ปลานิลแดงนับได้ว่าเป็นปลาที่เกษตรกรและผู้บริโภคกำลังให้ความนิยมอย่างแพร่หลาย ถือเป็นปลาน้ำจืดที่เลี้ยงง่าย และมีตลาดรองรับทั่วไป รูปแบบการเลี้ยงปลานิลแดงมีทั้งการเลี้ยงในกระชังและบ่อดิน
แต่ส่วนใหญ่มักนิยมเลี้ยงในกระชัง จึงเป็นที่มาของงานวิจัยนี้ โดย อาจารย์ ดร.ศิริพร โทลา จากภาควิชา
สัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เล็งเห็นประเด็นในเรื่องคุณภาพของ
ปลานิลแดงที่ขายทั่วไปตามท้องตลาด เพราะเป็นการเลี้ยงปลาจำนวนมากๆ ในกระชังซึ่งมีความหนาแน่นสูง อาจทำให้ปลาเกิดภาวะเครียด จนต้องมีการให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ก็จะส่งผลต่อการควบคุมคุณภาพที่เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย จึงต้องการเน้นคุณภาพในการผลิตให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค จากงานวิจัยของภาควิชาฯ จึงได้ทดลองใช้ระบบอควาโปนิกส์ ซึ่งเป็นระบบที่รวมการเลี้ยงสัตว์น้ำ และการปลูกพืชเข้าด้วยกัน ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แทบจะไม่ได้ใช้สารเคมีมีความปลอดภัยสูง ลดการสูญเสียน้ำอย่างสิ้นเปลือง เพราะพืชจะใช้น้ำเสียจากปลามาเป็นสารอาหาร ช่วยลดขั้นตอนการถ่ายน้ำจากบ่อเลี้ยงปลาเพื่อกำจัดของเสียออกไป ซึ่งแทบจะไม่ต้องถ่ายน้ำทิ้งเลย ทั้งยังสามารถควบคุมโรคและสารปนเปื้อนที่มาจากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ถ้าเทียบกับการเลี้ยงในกระชังหรือบ่อดิน ระบบนี้ทำได้ทุกพื้นที่ ใช้บริเวณพื้นที่ใช้สอยน้อย การจัดการทำได้ง่าย ในส่วนของข้อจำกัด เริ่มต้นอาจจะมีการลงทุนสูง แต่ตัววัสดุสามารถใช้ได้นาน
เรื่องการรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในระบบอาจจะเป็นความท้าทายในระบบนี้ ระบบอควาโปนิกส์จึงน่าจะตอบโจทย์วิถีชีวิตเกษตรพอเพียงของคนในเมืองได้เป็นอย่างดี
ภาควิชาฯ กำลังมีการวิจัยวัตถุดิบอาหารปลาที่สามารถหาได้ในท้องถิ่นและราคาถูก เช่น หญ้าหมัก ต้นข้าวโพดหมักและเปลือกข้าวโพดหมัก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและคำนึงถึงความปลอดภัย โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นจาก สวทช. ภาคเหนือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และอีกงานวิจัย ภาควิชาฯ ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาวัตถุดิบอาหารปลาคือการใช้วัตถุดิบจาก ข้าวราแดง ที่มีสารออกฤทธิ์บางอย่างที่ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
ลดคอเลสเตอรอล เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับปลานิลแดงและตอบโจทย์ที่ว่า หากปลานิลแดงได้รับอาหารปลาจากวัตถุดิบข้าวราแดงเข้าไป จะทำให้สีของปลา แดงเพิ่มกว่านี้ไหม และสารออกฤทธิ์ที่ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
จะเข้าไปสะสมในตัวปลาหรือไม่ เพื่อตอบสนองประเด็นที่ว่า หากเรากินปลาแล้วได้โปรตีน สารตัวนี้ก็ยังช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอลไปในตัว เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ปลานิลแดงปลอดภัย จากนวัตกรรมงานวิจัยสู่ผลผลิตที่ได้คุณภาพดี
ภาควิชาฯ มีกระบวนวิชาการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบผสมผสาน integrated aquaculture 356472
มีนักศึกษาที่ให้ความสนใจและศึกษาในกระบวนวิชา ที่คอยดูแล Crop กระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในวิชาเรียนแล้ว ยังเป็นการหารายได้เสริมให้นักศึกษาของภาควิชาฯ อีกด้วย ท่านที่สนใจในระบบ
อควาโปนิกส์ หรือสนใจสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ จากภาควิชาฯ ผักบุ้งไฮโดรโปนิกส์ เนื้อปลานิลสดและแบบแช่แข็ง ปลอดสารเคมี 100% หรือขอคำแนะนำ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มช. หรือ โทรสอบถาม 053-944088 ในวันเวลาราชการ
อ.ดร.ศิริพร โทลา
อาจารย์ภาควิชาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่